cropped-Untitled_design-removebg-preview-1.png

สารแอคทีฟน้ำมันหอมระเหย

เอสเซนเชียลออยล์ หรือ น้ำมันหอมระเหย

"เอสเซนเชียลออยล์" หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "น้ำมันหอมระเหย" เป็นน้ำมันที่สกัดมาจากพืชทั้งในส่วนของดอก ใบ ผล ลำต้น มาใช้ในการบำบัดแบบ Aromatherapy ซึ่งหมายถึง การบำบัดรักษา โดยการใช้กลิ่นหอมของสารในพืช โดยทั่วไปน้ำมันหอมระเหยจะถูกสกัดได้จากหลายรูปแบบ เช่น การกลั่นด้วยไอน้ำ, การสกัดโดยใช้ไขมัน, การสกัดด้วยตัวทำละลาย และการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวภายใต้ความดันสูง เป็นต้น มักจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม เครื่องสำอาง และสกินแคร์ เพื่อเพิ่มความหอมและความผ่อนคลายไปในตัวด้วย

"น้ำมันหอมระเหย" แต่ละชนิดสามารถนำมาผสมกันด้วยสูตรที่ต้องการตามสรรพคุณของชนิดนั้น ๆ เช่น สูตรเพื่อการรักษาโรค หรือสูตรเพื่อผ่อนคลาย สูตรลดน้ำหนักหรือไขมันส่วนเกิน เป็นต้น ใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ทำเป็นน้ำมันนวด นวดหลังการชำระร่างกายและไม่ต้องล้างออก น้ำมันที่มีโมเลกุลเล็กมากจะซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังอย่างรวดเร็ว เข้าไปช่วยบำบัดรักษาทั้งด้านร่างกายและจิตใจหรือใช้ผสมในอ่างอาบน้ำก็ได้

ในการใช้น้ำมันหอมระเหยแบบ Aromatherapy นั้น มีวิธีการที่นิยมกันดังนี้

     1. การนวด (Message) เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะด้วยสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด จะสามารถช่วยบำบัดรักษาโรคได้ ตัวยาจะซึมผ่านผิวหนังด้วยการนวด ส่วนกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยจะช่วยให้ประสาทสัมผัสรับกลิ่น ปรับอารมณ์ให้รู้สึกสบายขึ้นไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการใช้น้ำมันหอมระเหย ที่มีคุณภาพดี และเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการในการบำบัด จะทำให้การนวดมีประสิทธิภาพขึ้น

     2. การอาบ (Baths) เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำเองได้ คือ ผสมน้ำอุ่นในอ่างน้ำสำหรับลงแช่ได้ แล้วหยดน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 6-8 หยด ลงในอ่างน้ำ แล้วลงแช่ทั้งตัวสักประมาณ 20 นาที ไอระเหยจากอ่างน้ำอุ่นและการซึมทางผิวหนังด้วยการแช่ จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

     3. การประคบ (Compresses) ใช้ผ้าขนหนูสะอาดๆ ชุบน้ำที่ผสมน้ำมันหอมระเหยแล้วประคบตามบริเวณที่ต้องการ (ห้ามประคบบริเวณดวงตา) ส่วนผสมใช้น้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดต่อน้ำอุ่น 100 มล. การประคบนี้จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเฉพาะที่

     4. การสูดดม (Inhalations) เป็นการใช้กลิ่นหอม จากน้ำมันหอมระเหยอย่างเดียวไม่มีการสัมผัสทางผิวหนัง การสูดดมกลิ่นหอมทำได้ 2 วิธีคือ ใส่น้ำมันหอมระเหย 2-3 หยด ในชามที่เตรียมน้ำอุ่นไว้แล้วก้มลงสูดดมสัก 2-3 นาที หยด น้ำมันหอมระเหย 1-2 หยด ในผ้าเช็ดหน้าแล้วสูดดม (ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำมันหอมระเหยโดยตรง)

     5. การสูดไอน้ำ (Vaporisation) น้ำมันระเหยบางชนิด เป็นแอนตี้เซปติก (Antiseptic) ฆ่าเชื้อโรคได้ เมื่อสูดดมไอน้ำจากน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้เข้าไป จะช่วยกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินหานใจได้ วิธีทำ หยดน้ำมันหอมระเหย 2-4 หยด ลงในชามใหญ่ ซึ่งผสมน้ำร้อนไว้แล้ว ใช้ผ้าคลุมและก้มหน้าลงเข้าไปอังไอน้ำ สูดไอน้ำร้อนผสมน้ำมันหอมระเหย พักเป็นระยะๆ วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องผิวบาง และไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นหอบหืด

     6.การเผา-อบห้อง เป็นการอบห้องให้หอม หลักการอบห้องเพื่อฆ่าเชื้อโรค ในโรงพยาบาลก็ใช้หลักการนี้เช่นกัน เพราะน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจะถูกอบอวล ในห้องที่ปิดมิดชิดสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ในกรณีที่ต้องการให้ห้องหอมตามกลิ่นที่ต้องการ ก็สามารถทำได้โดย หยดน้ำมันหอมระเหย 3-4 หยด ในน้ำที่เตรียมใส่ในจานสำหรับเผา (Aroma Jar) แล้วจุดเทียนไว้ในห้อง ความร้อน จากเทียนจะทำให้กลิ่นหอม จากน้ำผสมน้ำมันหอมระเหยส่งกลิ่นอบอวลไปทั่วห้อง ควรเผา-อบไม่นานกว่า 10 นาที ต่อครั้ง

     7. ใช้ผสมกับเครื่องหอม และน้ำหอม ส่วนมากเครื่องหอม เช่น บุหงา และน้ำหอมจะมีส่วนผสมจากกลิ่นไม้หอม หรือกลิ่นจากดอกไม้นานพันธุ์ผสมอยู่ การใช้เครื่องหอมและน้ำหอม ส่วนมากจะมีจุดประสงค์ให้เกิดความสบายใจ สะอาด สดชื่น และเป็นที่เร้าใจตราตรึงใจจากผู้คนที่อยู่ใกล้

     8. ใช้ผสมกับเครื่องสำอางค์ ครีม โลชั่น ความหลากหลายของคุณสมบัติเฉพาะ จากน้ำมันหอมระเหย สามารถช่วยให้เครื่องสำอางค์ ครีมและโลชั่นต่างๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ผิวหน้า เส้นผม และสารสกัดบางชนิดยังช่วยในการทำความสะอาดผิวหนัง สร้างความสมดุลให้ผิวอีกด้วย แต่การเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด ต้องพิถีพิถัน และศึกษาให้รู้จริงว่า สารชนิดใด มีคุณสมบัติเช่นใด จึงจะก่อประโยชน์สูงสุด

     "จีน" อาจเป็นชาติแรกที่ได้คิดค้นวิธีการใช้กลิ่นหอมของพืชพันธ์ธรรมชาติสำหรับการบำบัดโรค จากข้อมูลที่พบว่า การจุดธูปนั้น ทำให้เกิดความรื่นรมย์ และความสมดุล ต่อมาชาวอียิปต์ ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรเพื่อใช้สกัดเอาน้ำมันจากไม้บางชนิด บ้างก็เชื่อว่า ชาวเปอร์เซีย และอินเดีย อาจเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องจักรเพื่อใช้สกัดกลิ่น ด้วยเช่นกัน

EUCALYPTUS OIL 80

ส่วนประกอบในเอสเซนเชียลออยล์ ยูคาลิปตัส เช่น eucalyptol และ citronellal ซึ่งมีคุณสมบัติบำบัดได้ด้วยกลิ่น (Aromatherapy) จึงช่วยลดอาการป่วยภูมิแพ้เมื่ออากาศเปลี่ยน ลดการคัดจมูก นอกจากนี้การสูดดมยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย